
นโยบายการบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์
มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ให้ความสำคัญกับการบริหารทรัพยากรบุคคล โดยกำหนดประเด็นยุทธศาสตร์ การพัฒนาองค์กรและการบริหารทุนมนุษย์สู่องค์กรสมรรถนะสูงไว้ในแผนยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ 20 ปี (พ.ศ. 2561-2580) เพื่อเป็นกลไกส่งเสริมและพัฒนาขีดความสามารถองค์กรให้เป็นมหาวิทยาลัยคุณภาพตามมาตรฐานสากล ซึ่งตามประเด็นยุทธศาสตร์ดังกล่าว กำหนดเป้าประสงค์ที่สำคัญ 4 ประการ ได้แก่ (1) มหาวิทยาลัยได้รับการยอมรับให้เป็นองค์กรสมรรถนะสูง (2) ผู้รับบริการมีความพึงพอใจต่อการให้บริการ (3) มีการบริหารจัดการงานที่รวดเร็ว ทันสมัย และมุ่งเน้นผลงาน และ (4) บุคลากรมีคุณวุฒิและสมรรถนะการทำงานสูงขึ้น ประกอบกับ ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยได้นำเครื่องมือ Objectives and Key Results (OKRs) มาใช้ในการบริหารผลการดำเนินงานของหน่วยงานควบคู่กับการจัดทำคำรับรองการปฏิบัติงานของหน่วยงานเพื่อเป็นกลยุทธ์การสร้างความเปลี่ยนแปลงและการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นสถาบันการศึกษาด้านการวิจัยชั้นนำแนวหน้าระดับโลก (Global and Frontier Research) และเป็น 1 ใน 100 มหาวิทยาลัยของโลก ในปี พ.ศ. 2570
เพื่อให้การขับเคลื่อนองค์กรไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็วแบบก้าวกระโดด มหาวิทยาลัยจึงกำหนดนโยบายบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีความสอดคล้องกับนโยบายการปฏิรูปการจัดการเรียนและการสอน และความสอดคล้องกับนโยบายการพัฒนาประเทศและการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก เช่น ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ นโยบาย Thailand 4.0 การเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยีดิจิทัลและโลกาภิวัฒน์ รวมทั้งนโยบายของกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ได้กำหนดนโยบาย การบริหารทรัพยากรบุคคล ระยะ 4 ปี (พ.ศ. 2562 – 2565) เพื่อเป็นแนวทางในการวางแผนปฏิบัติงาน ดังนี้
1. ด้านกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Strategy – HRS)
1.1 กำหนดให้มีการจัดทำแผนด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล ดังนี้
– แผนกลยุทธการบริหารทรัพยากรบุคคล (Human Resource Strategic Plan)
– แผนบริหารอัตรากำลัง (Workforce Planning) เพื่อให้มหาวิทยาลัยและส่วนงานต่างๆ มีอัตรากำลัง ที่เพียงพอเหมาะสมกับภารกิจและหน้าที่ความรับผิดชอบ
– แผนพัฒนาบุคลากร (Human Resource Development)
– แผนความก้าวหน้าในอาชีพ (Career Development)
1.2 พัฒนาองค์กร/หน่วยงาน (Organization Development) ให้มีขนาดกะทัดรัด มีความทันสมัย มีการบริหาร จัดการที่คล่องตัวและยืดหยุ่น
1.3 ปรับปรุงและพัฒนาเครื่องมือและกลไกในการบริหารทรัพยากรบุคคลให้มีความทันสมัยและเหมาะสมกับบริบทของมหาวิทยาลัย
1.4 ปรับปรุงแก้ไขข้อบังคับ ระเบียบ และประกาศให้มีความชัดเจน ทันสมัย และเป็นธรรม
2. ด้านการบริหารงานบุคคล (Human Resource Management : HRM)
2.1 พัฒนากระบวนการสรรหา/คัดเลือก (Recruitment and Selection) แบบเชิงรุก โดยใช้สื่อสังคมออนไลน์เพื่อให้สามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้รวดเร็วและทั่วถึง
2.2 พัฒนาระบบการบริหารผลการปฏิบัติงาน (Performance Management System) โดยให้มีการประเมินพนักงานรายบุคคลและการประเมินหน่วยงาน เป็นการประเมินแบบมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของงาน ประเมินแบบวัตถุวิสัยและการสร้างทีมงาน (Objective and Teamwork Assessment) กำหนดตัวชี้วัด (KPI) ให้มีความชัดเจนและสอดคล้องกับภารกิจหลักของหน่วยงานและทิศทาง เป้าหมาย แผนยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัย รวมทั้งเชื่อมโยงกับการบริหารค่าตอบแทนตามผลงาน (Pay for Performance) เพื่อเพิ่มผลิตภาพ (Productivity) ของพนักงานที่ดีขึ้น
2.3 พัฒนาและปรับปรุงระบบการบริหารค่าตอบแทน (Compensation Management) สวัสดิการและประโยชน์เกื้อกูล (Welfare and Benefit) ให้มีความเหมาะสมกับสภาวะเศรษฐกิจ
2.4 พัฒนาระบบการดูแลพนักงานและการจัดการบริหารคนดีคนเก่ง (Talent Management) เพื่อดึงดูดและรักษาบุคลากรที่มีศักยภาพให้คงอยู่กับมหาวิทยาลัย
2.5 สร้างสภาพแวดล้อมให้มีบรรยากาศการทำงานที่เอื้อต่อการปฏิบัติงานและเพื่อให้บุคลากรมีคุณภาพชีวิตที่ดี
2.6 จัดให้มีระบบการยกย่องชมเชยหรือให้รางวัลที่นอกเหนือจากระบบการให้ค่าตอบแทนปกติ
2.7 จัดให้มีระบบการประเมินความผูกพันแลความพึงพอใจของบุคลากรที่มีต่องานและองค์กร
3. ด้านการพัฒนาบุคลากร (Human Resource Development : HRD)
3.1 พัฒนาอาจารย์ตามกรอบมาตรฐานวิชาชีพระดับอุดมศึกษาของประเทศอังกฤษ (The UK Professional Standards Framework, UKPSF)
3.2 พัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ความสามารถ ทักษะด้านดิจิทัล และสมรรถนะที่สอดคล้องกับเป้าหมายและยุทธศาสตร์การพัฒนามหาวิทยาลัย
3.3 ส่งเสริมและสนับสนุนให้บุคลากรพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพสูงขึ้นตามความจำเป็นของแต่ละบุคคล (Individual Development Plan)
3.4 ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานสายวิชาการดำรงตำแหน่งทางวิชาการที่สูงขึ้น
3.5 ส่งเสริมและสนับสนุนให้พนักงานสายปฏิบัติการวิชาชีพและบริหารทั่วไปขอกำหนดตำแหน่งระดับชำนาญการ เชี่ยวชาญ และเชี่ยวชาญพิเศษ
3.6 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการศึกษาต่อเพื่อปรับคุณวุฒิ หรือเปลี่ยนตำแนห่ง
3.7 ส่งเสริมและขับเคลื่อนค่านิยมหลัก สมรรถนะหลักของมหาวิทยลัย และวัฒนธรรมวลัยลักษณ์ (Core Value / Core Competence & Organization Culture)
3.8 ส่งเสริมและสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และแบ่งปันความรู้เพื่อให้บุคลากรสามารถให้บริการแก่ผู้รับบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ
3.9 พัฒนาบุคลากรให้มีภาวะผู้นำ (Leadership)
4. ด้านการบริหารสารสนเทศบุคลากร (Human Resource Management Information System – HRMS)
4.1 พัฒนาระบบสารสนเทศบริหารงานบุคลากรเพื่อให้มีข้อมูลที่ทันสมัยและทันต่อความต้องการเพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปด้วยความรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ
4.2 ใช้สื่อสังคมออนไลน์ในการประชาสัมพันธ์และเผยแพร่ รวมทั้งให้ข้อมูลแก่บุคลากร
ฉะนั้น เพื่อให้การนำแผนงานดังกล่าวนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม มหาวิทยาลัยเล็งเห็นถึงความจำเป็นในการพัฒนาภาวะผู้นำขององค์กรในระดับผู้บริหาร ผู้บังคับบัญชาหน่วยงาน ให้เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง (Change Agent) มหาวิทยาลัยจึงจัดโครงการพัฒนาหลักสูตร “นักบริหารระดับสูงมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์: ผู้นำการเปลี่ยนแปลงเพื่อขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่ระดับโลก” เพื่อเสริมสร้างผู้บริหารของมหาวิทยาลัยให้มีวิสัยทัศน์ มีแนวคิดและวิธีการบริหารจัดการที่ทันสมัย มีความรู้ ความสามารถ ทักษะและศักยภาพในการบริหารจัดการในสภาวะที่มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีการบริหารจัดการตามหลักธรรมาภิบาล (good governance) โดยกำหนดจัดอบรมในช่วงต้นปีงบประมาณ 2564 และมหาวิทยาลัยดำเนินการจัดทำแผนกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคล มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ ประจำปีงบประมาณ 2564 – 2567 ควบคู่ไปด้วย โดยให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder) ทุกฝ่าย ทั้งผู้บริหารและบุคลากรได้ร่วมแสดงความคิดเห็นและจัดทำแผนกลยุทธ์การบริหารงานบุคคลให้มีความชัดเจนและเหมาะสม สอดคล้องกับสภาวภารณ์ปัจจุบัน
(รองศาสตราจารย์ ดร. วาริท เจาะจิตต์)
รักษาการแทนรองอธิการบดี มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์